ยูบีเอ็ม เอเชีย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และทีเส็บ จัดงานแสดงวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตยา และการบริการผลิตยาครบวงจร “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019)” ครั้งแรกในไทย
ชูความร่วมมือรัฐ-เอกชน เตรียมความพร้อมยาไทยสู่การแข่งขันในเวทีโลก
ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยาไทยให้สามารถฉายศักยภาพขึ้นแท่นผู้นำผ่านมาตรฐานระดับสูง โดยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนจะช่วยให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทยมีแนวทางที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการนำงานวิจัยพร้อมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตยา ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงการสร้างสรรค์เภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ทันต่อยุคสมัยได้
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีการเปิดงาน “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019)” ได้กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทยว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อสุขภาวะของประชาชนในประเทศ เนื่องจากยาเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตที่ขาดแคลนไปไม่ได้ สอดรับกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยที่
จะยิ่งทวีคูณจำนวนประชากรสูงวัยซึ่งมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพในอนาคต ยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษากลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางด้านคลังยา รวมไปถึงยาที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในการรักษาประชาชนในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย อาทิ ยารักษามะเร็ง ยารักษาความดัน ยาต้านเชื้อ HIV นอกจากนี้ ยาไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสอันดีในการส่งออกไปยังนานาประเทศ เนื่องด้วยมาตรฐาน GMP PIC/S ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ดังจะเห็นได้จากการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และโรงงานผลิตยาของไทยยังได้รับความไว้วางใจให้ผลิตยาภายใต้แบรนด์ระดับโลกต่าง ๆ ในรูปแบบของ OEM หรือผู้รับจ้างผลิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศักยภาพที่สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทย
ด้านนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการอาเซียน ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโอกาสของยาไทยบนเวทีโลกว่า “การผลิตยาของไทยยังจัดอยู่ในการผลิตขั้นปลาย คือ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แล้วจึงผลิตยาสำเร็จรูปหรือยาชื่อสามัญออกมา โดยมักจะเป็นยาที่มีราคาถูกในท้องตลาด แต่ด้วยมาตรฐาน GMP PIC/S ที่ผู้ผลิตยาไทยมากถึง 161 รายมีนั้น ทำให้ยาของไทยมีคุณภาพที่สูงมากจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ
ทางด้านอุตสาหกรรมยาที่กำลังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการมีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน การมีเครื่องจักรและเครื่องมือที่ทันสมัย ไปจนถึงการรับรองจากทางอย.ของไทยซึ่งเป็นสมาชิก PIC/S จะเป็นการเปิดบ้านรอต้อนรับกลุ่มนักลงทุนและการผลิตยาชนิดใหม่ซึ่งมีมูลค่าที่มหาศาลในอนาคตอันใกล้
โดยนางสาวรุ้งเพชร กล่าวอีกว่า “การจัดงานซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019) ถือเป็นการจัดงานด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบยาครั้งแรกในไทยที่รวบรวมผู้ประกอบการจากทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาไทยให้ก้าวทันต่อโอกาส เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้เข้าถึงส่วนประกอบยาใหม่ ๆ หรือคู่ธุรกิจที่จะช่วยยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทย ทั้งยังได้รับการตอบรับจากองค์การอาหารและยาของกลุ่มประเทศในอาเซียนสำหรับการเข้าร่วมงานสัมมนา หัวข้อ “ASEAN Regulatory Framework” จากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อสร้างความเข้าใจและปูพื้นฐานให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น
โดยภายในงานมีบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์กว่า 270 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งพาวิลเลี่ยนนานาชาติจาก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย กาตาร์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ทั้งยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมอุตสาหกรรมการผลิตยาที่น่าสนใจ และการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติอีกมากมาย อาทิ “การพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยให้ก้าวไกลระดับสากล” “สถานการณ์การดื้อยา การจัดการ และการปรับตัวของภาคการวิจัยและภาคการผลิต”, “กัญชา: แนวทางการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย” ซึ่งคาดหวังว่างานนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยาไทยได้เติบโตและพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันบนเวทีโลกต่อไป
ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบการผลิตยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตทางการตลาดและ
มีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 650 ล้านคนที่เข้าถึงด้านการดูแลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย นำไปสู่ความต้องการด้านยาที่เพิ่มขึ้นตาม อันก่อให้เกิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้