สุขภาพ-ความงาม » สาธารณสุข พร้อมดันไทยเป็นฮับผลิต “กัญชา-กัญชง” โลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

สาธารณสุข พร้อมดันไทยเป็นฮับผลิต “กัญชา-กัญชง” โลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

24 มีนาคม 2021
926   0

สาธารณสุข พร้อมดันไทยเป็นฮับผลิต “กัญชา-กัญชง” โลก ด้าน มทร.พระนคร ร่วมกับ TCI ขานรับนโยบายสนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสองธารากับภาคีเครือข่ายพันธมิตรวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ฯลฯ ทุบทำลายกำแพง ซึ่งเป็นคอขวดขวางกั้นระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ โดยลงทุนเครื่องสกัดกลั่นให้บริการแก่เกษตรกรโดยตรง เพื่อให้ได้สารสกัดบริสุทธิ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาถกฐาพิเศษหัวข้อ “ปลดล็อกกัญชง กัญชา ทางเลือกใหม่สังคมไทย” โดย ระบุช่วงหนึ่งว่า ขณะนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการถอดกัญชาและกัญชง พ้นยาเสพติดประเภทที่ 5 และเปิดโอกาสให้สถาบัน องค์กร และวิสาหกิจ ได้มีการปลูกกัญชา มีการมาขออนุญาตไปแล้วกว่า 100 แห่ง ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งได้รับอนุญาตแล้ว และได้มีการทดลองปลูกหลายพื้นที่ เพื่อนำมาสกัดไปใช้ในด้านการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไทย มีหลากหลายสายพันธุ์ทั้ง “กัญชา” และ “กัญชง” ตั้งเป้าในอนาคตไทยจะเป็นฐานการผลิตของโลก หรือฮับ อย่างแน่นอน

ด้าน ดร.เพ็ชร ชินบุตร ประธานบริหาร บริษัท ไทยคานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ ทีซีไอ เปิดเผยว่า กัญชาถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งมองว่าในอนาคตประเทศไทยควรสร้างและพัฒนาพืชกัญชา ที่เป็นต้นแบบให้กับต่างประเทศ และอยากเห็นกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมากัญชามีการใช้ในทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรค โดยปัจจุบันในการปลูกกัญชาต้องมีหน่วยงานรับรองเพื่อใช้ในการวิจัย ซึ่งต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการปลูกภายใต้ขอบเขตที่กำหนด โดยเรารวบรวมข้อมูลที่ถูกทาง เพื่อไปสร้างสิ่งที่ถูกต้อง และไม่อยากให้กัญชากลายเป็นเหมือนผลไม้ เช่น ทุเรียน หรือสินค้าเกษตร เช่น กุ้ง ที่มีราคาผันผวน แต่อยากเห็นกัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนแปลงสู่ทางเลือกใหม่ของพืชเศรษฐกิจในสังคมไทย ต้องสร้างแนวคิด สร้างค่านิยมที่มีส่วนร่วมอย่างมีคุณค่าต้องมีการจัดการระบบนิเวศวิทยาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องสร้างภูมิปัญญาปฏิบัติ สร้างองค์ความรู้ ต้องทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างให้กัญชาเป็นพืชของคนทั้งประเทศ

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจที่มีความประสงค์ต้องการปลูกกัญชา สามารถเข้ามาขอคำแนะนำจากทีซีไอ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร หรือ มทร. เนื่องจากก่อนปลูกกัญชาต้องมีผู้รับซื้อ และควรปลูกเพื่อใช้งานทางการแพทย์ โดยทางทีซีไอ จะมีการคิดคำนวณความต้องการผลผลิต ต้นทุนการปลูก พร้อมทั้งคิดคำนวณความต้องการสารสกัดซีบีดี เพื่อวางแผนกระบวนการกลั่นสาร และให้คำแนะนำต่อวิสาหกิจชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ มองว่า หากประชากรในประเทศไทยสามารถปลูกและพัฒนาสายพันธุ์รวมถึงพัฒนาสารสกัดจากกัญชาให้ตอบสนองความต้องการใช้งานในแต่ละภูมิภาคที่ไม่เหมือนกัน ก็จะทำให้กัญชาเป็นพืชที่สำคัญของประเทศ ไม่ใช่แค่พืชในท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จ.เชียงราย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ถือว่ามีการปลูกและผูกพันกับกัญชามาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หรือ มทร.พระนคร ได้มีการวิจัยกัญชาที่ชาวม้งทำการปลูก ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำกัญชาไปพัฒนาจนสามารถนำไปทำเป็นยาได้และกัญชาสามารถใช้เป็นพืชเศรษฐกิจได้

โดยปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีการปลูกกัญชาที่จังหวัดเชียงราย บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ และในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งพืชกัญชาที่ปลูก ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยคานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ ทีซีไอ รวมถึงได้รับการดูแลทั้งในเรื่องของน้ำและออกซิเจน ซึ่งน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตที่ดี

สำหรับต้นทุนในการปลูกกัญชา หากปลูกในแบบวิสาหกิจชุมชนชาวบ้านไม่ใช่รูปแบบธุรกิจ จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อไร่ ซึ่งเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประชากร และเป็นพืชพื้นฐานที่สร้างรายได้ให้กับคนยากจนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

ด้าน นายวัชร์โรจน์ ไชยพิเดช ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรสองธารา จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนนี้เป็นกลุ่มครูที่เกษียณแล้ว ซึ่งล้วนมีภาระหนี้สินที่มีเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1 ถึง 3 ล้านบาท ส่วนเงินเดือนภายหลังเกษียณที่ได้รับก็ลดน้อยลงประมาณ 50% จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร และบริษัท ไทยคานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด ในการปลูกพืชกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยรับรองว่าสารซีบีดีในกัญชา สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ จากงานวิจัยทำให้ทางสมาชิกวิสาหกิจมีความมั่นใจว่าจะสามารถปลดหนี้สินได้อย่างแน่นอน

โดยเป้าหมายของกลุ่มคือปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยบริษัท ทีซีไอ เป็นผู้จัดเตรียมโรงเรือนเพาะปลูกและรับซื้อต้นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นได้นำโรงแรมร้างในจังหวัดเพชรบุรี มาปรับปรุงให้เป็นโรงเรือนเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ด้วยระบบปิด (Indoor) โดยความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมั่นใจในศักยภาพของบริษัททีซีไอ และ มทร. ซึ่งสามารถนำกัญชามาเป็นพืชเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มครูวัยเกษียณ และคาดว่าจะทำให้สามารถปลดหนี้ได้ภายในเวลา 3 ปี และอยากขอให้รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วย” นายวัชร์โรจน์ กล่าว

ขณะที่ “ลุงดำ” นายอร่าม ลิ้มสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกาะเต่า เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้พืชกัญชาได้รับการยอมรับ หลังจากที่ตนเองได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาและทำการต่อสู้เพื่อให้กัญชาได้รับการยอมรับทั้งในด้านสรรพคุณการเป็นยารักษาโรค

และการสันทนาการ พร้อมเชื่อว่า ในอนาคตพืชกัญชา จะสามารถพัฒนาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขภาพ เพื่อดึงดูดให้ต่างประเทศเข้ามารักษาโรคในประเทศไทย สามารถทำรายได้เข้าประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยดีขึ้น คนปลูก เกษตรกร รวมถึงทุกอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความกินดีอยู่ดีตามมา

ทั้งนี้ การปลดล็อกกัญชา จะทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ การท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมฟาร์มกัญชาทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละภาคในประเทศไทยก็มีกัญชาและมีวิธีการใช้ที่ไม่เหมือนกัน

หรืออาจพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ให้กลายเป็นเมืองกัญชาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งอยากฝากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เพื่อประเทศไทยและความกินดีอยู่ดีของทุกคน